ร่วมเสนอความคิดเห็น

หัวข้อกระทู้ : เปิดตำนานศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธรูปเก่าแก่ อายุ 330 ปี ของชาวเมืองขอนแก่น



(N)


ประวัติหลวงพ่องค์กาส

ตามประวัติศาสตร์ชาติไทยในอดีต ได้จารึกไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๑-๒๓๒๒ นั้นว่า พระเจ้าตากสินไม่พอใจที่พระเจ้าสิริบุญสาร ไม่ช่วยรบพม่า แถมยังทราบอีกว่าได้เอาใจออกห่างไปฝักฝ่ายพม่าอีกด้วย จึงได้ให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปตีลาว เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกตีได้อาณาจักรจำปาศักดิ์ อาณาจักรเวียงจันทร์และอาณาจักรหลวงพระบางทั้งหมด ใน พ.ศ. ๒๓๒๒ ตอนกลับได้นำ พระแก้วมรกต จากเวียงจันทร์กลับมาด้วย พร้อมทั้งกวาดต้อนชาวลาวทั้งหมดมาอยู่ที่ กรุงธนบุรี ด้วยในกลุ่มที่กวาดต้อนมาด้วยนั้น ได้มีคนอีกกลุ่มหนึ่งประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ กว่าคนได้แยกจากหมู่คณะกลุ่มใหญ่ผ่านมาทางบ้านชีโหล่น แขวงสุวรรณภูมิ ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งมีอาณาเขตถึงสันเขาภูเม็ง ฝายพญานาคจดพองหนีบ ได้เดินทางรอนแรมมาเรื่อย ๆ พร้อมกับได้นำพระพุทธรูปองค์หนึ่งขนาดหน้าตักกว้าง ๘ นิ้ว ความสูงวัดจากฐานถึงเกษรัศมี ๑๘ นิ้ว องค์พระสูงวัดจากหน้าตักถึงเกษรัศมี ๑๒ นิ้ว นั่งอยู่บนฐานแท่นพระสูง ๖ นิ้ว เขียนอักษรลึกลงในเนื้อฐานพระด้วยเหล็กจานแหลมตอกหรือสักลงให้เป็นตัวหนังสือเป็นตัวอักษรพื้นเมือง เข้าใจว่าเป็น ภาษาลาวพื้นเมือง ตามที่ผู้อ่านได้บอกไว้ (พ่อจิ คำแสน ผู้เคยอ่านแต่ผู้เขียนไม่ได้บันทึกไว้ เพราะเห็นว่าความในเนื้อเรื่องไม่ติดต่อกัน) วัสดุหล่อด้วยทองสัมริด (ออกสีทอง) และอีกองค์หนึ่งคือ พระสังกัจจายนะ ขนาดหน้าตักกว้าง ๖ นิ้ว รวมสูงทั้งฐานถึงเกษพระ ๑๔ นิ้ว วัดจากตัวพระถึงเกษสูง ๘ นิ้ว นั่งอยู่บนแท่นฐานพระสูง ๕ นิ้ว รูปทรงของฐานพระเหมือนมาวฝ่าซีก ด้านหน้าฐานพระเป็นพื้นเรียบ ด้านหลังฐานพระเป็นรูปโค้งกลมสลักตัวอักษรลงในเนื้อฐานพระ เป็นตัวธรรมไว้ ๕ แถว จากซ้ายไปขวา เป็นลักษณะเดียวกับพระพุทธรูปที่คู่กันนั้นวัสดุหล่อด้วยทองสัมริด(ออกสีเงิน) ตัวหนังสือโตธรรม ถ้าได้ผู้เชี่ยวชาญอ่านเก่งคงจะได้ เพราะตัวยังชัดเจนดี ซึ่งได้หาบคู่กันมากับเด็กน้อยอายุประมาณ ๒ ขวบ โดยใช้ผ้าผูกเป็นอู่โซนไว้อยู่คนละข้างกับเด็กน้อยนั้น ภาษาบ้านเฮาว่า หาบซากัน เน๊าะ (หมายเหตุ ที่หล่อพระช่วงต้น ๆ นั้น ดินที่เป็นมวลสารในองค์พนะนั้นยังมีเต็มฐานพระอย่างสมบูรณ์นั้น พระสององค์นี้จะมีน้ำหนักมาก จึงหาบคู่กับเด็กน้อยได้)

เมื่อเข้ามาถึงในเขตของบ้านทุ่ม ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ คนยังไม่มาก ในบริเวณเขตนั้นยังเป็นป่าเป็นดงหนาแน่นอยู่มาก เต็มไปด้วยสัตว์นานาชนิด มีแหล่งน้ำหนองน้ำทางด้านทิศใต้ของหมู่บ้าน พอได้อาศัยไม่ขาดแคลนมีต้นไม้น้อยใหญ่ชุกชมอยู่มาก โดยเฉพาะต้นกระทุ่ม หรือต้น ธม ออกเสียงบ้านเฮาเด้อ และต้นกกหุงคาวใหญ่ จะมีเป็นบางแห่งไม่ทั่วไป

แถบริมหมู่บ้านด้านทิศใต้นั้นได้มีที่พักสงฆ์แห่งหนึ่งประจำหมู่บ้าน เป็นไปตามจารีตประเพณีของชาวพุทธ เพราะวัดกับบ้านเป็นของคู่กันมาแต่ครั้งบรรพกาลแล้วนั่นเอง เพื่อเป็นสถานที่บำเพ็ญบุญ-กุศลตามประเพณีนิยมของชาวบ้านในทางศาสนา ทำนองว่าเมื่อมีบ้านก็ต้องมีวัด เพราะวัดทำให้คนเกิดความเย็นชุ่มฉ่ำใจ สุขใจเมื่อได้เห็นวัด ยิ่งเมื่อได้กราบพระไหว้พระจะเหมือนต้องมนต์เสน่ห์อย่างประหลาดมหัศตรรย์ทีเดียว ทั้งยังเป็นอุปการะเกื้อกูลได้อาศัยซึ่งกันและกัน

เป้าหมายแรกของคนเดินทางเพื่อหาที่พักผ่อนหลับนอนเอาแรง คนกลุ่มนี้จึงเดินทางเข้าสู่ที่พักสงฆ์ก่อน เมื่อเข้าไปในเขตสถานที่อันเป็นเขตที่ชาวบ้านทุ่มได้กำหนดไว้ว่าได้เป็นที่พักสงฆ์นั้น ขณะนั้นก็เป็นเวลาได้บ่ายคล้อยไปมากแล้ว ทุกคนต่างก็รีบเร่งเพื่อให้ได้ที่พัก มีความสะดวกสบายตามอัตภาพ ในสถานที่ในขณะนั้นก็มีความชุลมุนวุ่นวายกันบ้าง เพราะเป็นคนหมู่มาก


ส่วนภรรยาของหัวหน้าหมู่ที่หาบลูกน้อยของตนอยู่คนละข้างกับพระพุทธรูปนั้น เมื่อเข้าไปในเขตที่พักสงฆ์แล้ว แต่ยังไม่ได้ที่เหมาะสมกับความต้องการของตัวเอง ก็เดินหาบวนเวียนอยู่ในเขตบริเวณนั้น ในขณะนั้นผ้าที่ผูกเป็นอู่โซนอยู่กับพระพุทธรูปและลูกของตัวเองก็ขาดลงที่ตรงนั้น ด้วยความตกใจทั้งเป็นห่วงลูกน้อยจะเจ็บตัว ทั้งกลัวเป็นบาปเป็นกรรมที่ตนเองได้ทำให้พระพุทธรูปหล่นออกจากผ้าอู่ เพราะผ้าขาดก็ไม่สบายใจ ก็หาดอกไม้ธูปเทียนทำพิธีขอขมาในพระพุทธรูปองค์นั้นและพระสังกัจจายนะด้วย

หัวหน้าหมู่จึงได้พูดขึ้นให้คนในกลุ่มทั้งหมดของตัวเองได้ฟังว่าเป็นฤกษ์เป็นชัย เป็นโอกาสอันดีงามของพวกเราแล้ว เป็นความประสงค์ขององค์พระ ท่านอยากจำศีลภาวนาอยู่สำนักสงฆ์แห่งนี้ เป็นความประสงค์ของเทพไท้เทวาอารักษ์ที่ได้ติดตามปกปักรักษาให้พวกเราได้เดินทางมาตลอดปลอดภัยด้วยดี พวกเราจะพักอยู่ในเขตที่พักสงฆ์แห่งนี้สักหลายวันก่อน เพื่อปรึกษาหารือกันในที่นี้ (ซึ่งที่พักสงฆ์ในขณะนั้น ปัจจุบันคือ วัดโพธิ์กลาง บ้านทุ่ม)

พักอยู่หลายวันต่อมา คนกลุ่มนี้จึงแยกออกเป็นสองกลุ่ม สาเหตุอาจเป็นเพราะกลุ่มใหญ่คือ ๒๐๐-๓๐๐ กว่าคน จะอยู่ตั้งหลักปักฐานในหมู่บ้านเดียวกันคงไม่สะดวก เพราะคนในหมู่บ้านเดิมก็มีอยู่แล้ว แต่อยู่ในขณะสงคราม กวาดต้อนประชาชนพลเมืองให้เข้ามาอยู่ภายในประเทศให้มาก พวกอยู่เก่าจึงไม่ว่าอะไรอยู่ได้ก็อยู่กันไป และหมู่บ้านในสมัยนั้นยังเป็นป่าดงที่ยังหนาแน่นอยู่ ที่จะทำไร่ทำนาก็มีน้อย บางคนก็อยากไปแสวงหาที่อยู่ใหม่ที่เหมาะกว่านี้ เพื่อตั้งหลักปักฐานให้มั่นคงต่อไป เมื่อพักผ่อนตามสมควร แก่เวลา กลุ่มหนึ่งก็ได้แยกตัวออกไปครึ่งหนึ่ง ออกเดินทางมุ่งหน้าหาที่อยู่ใหม่ ซึ่งยังไม่รู้จุดหมายปลายทางนั้นอยู่แห่งใด

ส่วนพวกที่พักอยู่เดิมที่พระพุทธรูปหล่นลงนั้น จึงเอาพระพุทธรูปองค์นั้นและพระสังกัจจายนะไว้ด้วย เพราะเห็นว่าคงเป็นความประสงค์ขององค์พระที่อยากอยู่ที่พักสงฆ์แห่งนี้ พูดกันว่า เป็นโอกาส อันเหมาะแล้ว คนกลุ่มที่พักอยู่ที่เดิมก็พากันทำนุบำรุงที่พักสงฆ์แห่งนี้ให้มีความเจริญขึ้นกว่าแต่ก่อน แล้วจึงถือเอาฤกษ์เวลาบ่ายคล้อยที่พระพุทธรูปหล่นลงมานั้นว่าเป็นฤกษ์มงคล เป็นโอกาสอันดีที่ให้ชื่อพระพุทธรูปองค์นั้นว่า

พระองค์กาส แล้วจึงพากันพัฒนาที่พักสงฆ์แห่งนี้ มีกุฏิ มีศาลา มีเสนาสนะเครื่องอุปโภคบริโภคใช้สอย เป็นที่พักสงฆ์ที่สมบูรณ์แห่งหนึ่ง เหมาะแก่การแวะเวียนมาพัก อยู่จำพรรษาของพระภิกษุสามเณรมากขึ้น หาต้นโพธิ์อันเป็นเครื่องหมายตรัสรู้ของพระพุทธเจ้ามาปลูกไว้เพื่อบูชาอีกหลายต้น

ณ ที่พักสงฆ์แห่งนี้จึงประกอบไปด้วย เสนาสนะที่เป็นสัปปายะแก่อันคันตุกะผู้จร มาจากทิศทั้งสี่อย่างพอเพียง ศาลาบำเพ็ญกุศล และเป็นสถานที่ประดิษฐานหลวงพ่อองค์กาส องค์ศักดิ์สิทธิ์ก็มีแล้ว ต้นโพธิ์ก็แตกกิ่งก้านสาขาต้นใหญ่ใบหนาร่มรื่น ให้ความร่มเย็นเป็นที่เจริญศรัทธาของพุทธศาสนิกชนมากขึ้นตามลำดับ

สมัยต่อมาคนมากขึ้น บ้านเรือนก็แน่นหนา ตามเหตุตามปัจจัยของโลก ที่พักสงฆ์แห่งนี้จึงตั้งอยู่ท่ามกลางของหมู่บ้าน เพราะเป็นที่พักสงฆ์แห่งเดียวแห่งแรกของหมู่บ้าน คนในหมู่บ้านทุ่มนั้นจึงพากันขนานนามที่พักสงฆ์แห่งนี้เสียใหม่เพื่อความเหมาะสมกับภาวะในสมัยนั้น คือที่พักสงฆ์ตั้งอยู่ท่ามกลางหมู่บ้าน และมีต้นโพธิ์ใหญ่หลายต้นให้ความสงบเย็นร่มรื่นอยู่ตลอดปี เป็นนิมิตหมายมงคลว่า วัดโพธิ์กลาง บ้านทุ่ม แต่นั้นมา

บุคคลอีกกลุ่มหนึ่งที่แยกตัวออกไป หาที่ตั้งหลักปักฐานใหม่ได้พบทำเลดีมีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ห้วยหนองคลองบึงมีมากมายหลายแห่ง ทั้งเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การเพาะปลูก ทำไร่ทำนามาก เป็นหมู่บ้านมีคนอยู่พอสมควรแล้ว เมื่อพิจารณาดูแล้วเห็นว่าไม่ห่างจากกลุ่มเดิม คือบ้านทุ่มเท่าไรนัก ทั้งไปกลับเดินเท้าวันหนึ่งก็ถึงกันได้ จึงตกลงอยู่ที่ใหม่ แล้วแยกย้ายกันลงหลักปักฐานสร้างบ้านเรือนอยู่กันอย่างมั่นคงต่อไป ซึ่งอยู่ในเขตของหมู่บ้านสาวะถี-บ้านงิ้ว-บ้านหนองปิง ในปัจจุบัน

คุณตาช่วง มหานาม ได้รับคำถ่ายทอดจากหลวงปู่วินัย (พระสารนาถธรรมาจารย์) ไว้ ท่านได้เล่าให้ผุ้เขียนฟังเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๓ (ขณะเขียนหนังสือนี้ พ.ศ. ๒๕๔๙ คุณตาช่วง มหานาม ยังมีชีวิตอยู่ อายุ ๘๘ ปี เปิดร้านขายยามหานาม เภสัช ที่อำเภอภูเวียง เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่วินัยที่ใกล้ชิดรับผิดชอบเรื่องการศึกษาแผนกนักธรรม) ว่า กลุ่มคณะที่อยู่บ้านสาวะถี บ้านงิ้ว บ้านหนองปิง เมื่อถึงวันที่ ๑๓ เมษายน ของทุกปี จะพากันหาบครุใส่น้ำมาจากสาวะถี บ้านงิ้ว บ้านหนองปิง เพื่อสรงน้ำพระองค์กาสหรือหลวงพ่อองค์กาส น้ำหาบหนึ่งเอาสรงน้ำพระองค์กาสหนึ่งครุหนึ่งให้หมด อีกครุหนึ่งที่เหลือได้คว่ำเกตุพระองค์กาสลงต่ำ หงายฐานพระขึ้นบนแล้วเทน้ำลงใส่ฐานพระ แต่ก่อนฐานพระองค์กาสยังมีดินเผาเป็นมวลสารให้ได้เนื้อดินติดน้ำไปบูชา เป็นยารักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ เมื่อเทน้ำใส่ฐานพระแล้วก็เทคืนใส่ครุใส่ถังคืน แล้วแบ่งออกเป็นสองครุ เพื่อหาบน้ำที่ได้จากล้างฐานพระองค์กาสนั้นกลับคืนไปกินที่บ้านเรือนนของตนเอง

เมื่อกลับถึงบ้านก็ล้างแอ่งที่ใส่นำกินของเก่านั้นออก สมัยก่อนใช้แอ่งดินหรือหม้อดินใส่น้ำกินตลอดปี แล้วเอาน้ำใหม่ที่ได้จากการล้างฐานพระองค์กาสใส่ในแอ่งไว้กินแทนน้ำเก่าที่ล้างออก พยายามไม่ให้น้ำในแอ่งหมด ถ้ารู้ว่าน้ำในแอ่งลดลงก็จะไปตักมาจากบ่น้ำกินมาใส่ให้เต็ม เพื่อกินตลอดปีของปีนั้นๆ

เมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน ของทุกปี พวกกลุ่มที่อยู่บ้านสาวะถี บ้านงิ้ว บ้านหนองปิง เขาจะมาสรงน้ำหลวงพ่อองค์กาสทุก ๆ ปี มิได้ขาด แอ่งน้ำกินนั้นปีหนึ่งเขาจะล้างแอ่งให้สะอาดครั้งหนึ่ง คือ วันที่ ๑๓ เมษายน ของทุกปี หลังจากได้นำที่มาสรงหลวงพ่อองค์กาสไปแล้ว เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ท่านบอกว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ กินเป็นยา กินแล้วหายจากโรคภัยได้ คนสมัยนั้นถือกันอย่างนี้ หรือพวกลูกเล็กเด็กน้อยได้อาบน้ำใต้โต๊ะพระองค์กาสในวันสงกรานต์ ส่วนมากจะเป็นเด็กผู้ชาย ผู้หญิงมีน้อย คนเก่าโบราณจะบอกว่าอาบแล้วจะเรียนหนังสือดี มีความฉลาดเฉลียว เขียนอ่านคล่องแคล่วปัญญาดี จะแคล้วคลาดจากอุปัทวเหตุทั้งปวง เขาแย่งกันอาบน้ำใต้โต๊ะพระองค์กาสอย่างสนุกสนาน เป็นน้ำมนต์มหามงคลยิ่ง

ในวันที่คุณตาช่วง มหานาม ได้เล่าประวัติ พระองค์กาส มาถึงตรงนี้ (เล่าเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๓ ปีหล่อพระองค์กาสจำลอง ขนาดหน้าตัก ๖๐ นิ้ว ที่วัดโพธิ์กลาง บ้านทุ่ม) ท่านได้ถามผู้เขียนว่า ทุกวันนี้เขายังมาอยู่ไหม หมายความว่า ทุกวันนี้ชาวบ้านสาวะถี บ้านงิ้ว บ้านหนองปิง เขายังหาบน้ำมาสรงพระองค์กาสอยู่ไหม ผุ้เขียนเลยบอกว่า อาตมาบวชมาแล้วเกือบจะสามสิบปีแล้ว ยังไม่เคยเห็นเลย คนเหล่านั้นคงตายไปหมดแล้วล่ะ เหลือพวก หลาน เหลน เขาคงไม่รู้เรื่องหรอก มันนานมาแล้ว ท่านก็รับว่า เออ...คงจะจริงอย่างนั้นเน๊าะ แล้วท่านก็เล่าตามประสบการณ์ในชีวิตที่ได้ใกล้ชิดอยู่กับหลวงปู่วินัยให้ฟัง

ความจริงในสมัยนั้น ชาวบ้านสาวะถี บ้านงิ้ว บ้านหนองปิง คงจะยังเทียวไปเทียวมาอยู่ ในระหว่างที่คุณตาช่วง มหานาม ยังบวชเป็นพระอยู่นั้น คงได้เห็นคนเหล่านั้นมาสรงน้ำพระองค์กาสอยู่ จึงได้พูดอย่างนั้น ข้อสันนิษฐานประการหนึ่งคือ คนในสมัยต่อมาที่เป็นลูกหลาน เหลน ของบุคคลกลุ่มบรรพบุรุษที่พากันมาตั้งรกรากตอนแรกนั้น ยังสืบสานประเพณีของบรรพบุรุษของตนเอาไว้ได้อยู่ จนมาถึงยุคของหลวงปู่วินัยเข้าไปเผยแพรธรรมในเขตบ้านสาวะถี บ้านงิ้ว บ้านหนองปิง นั้น เขายังถือปฏิบัติกันมาไม่ขาดสาย ประกอบกับสมัยของหลวงปู่วินัย (พระสารนาถธรรมาจารย์) ยังไม่เจริญมากมายเท่าไหร่ ถนนหนทางก็ยังอาศัยทางล้อทางเกวียนเป็นทางคมนาคมอยู่ ท่านได้เข้าไปพัฒนาวัดวาอารามในเขตบ้านสาวะถี บ้านงิ้ว บ้านหนองปิง ได้สร้างวัด ได้สร้างโรงเรียน ได้บำเพ็ญประโยชน์ในเขตนั้นอย่างมั่นคง (ดูในหนังสือหลวงปู่วินัยประกอบ) เท่ากับไปเพิ่มศรัทธาที่เขามีอยู่แล้วในหลวงพ่อองค์กาส ที่ยังนับถือกันเป็นจารีตประเพณีปฏิบัติกันอยู่ก่อนแล้วนั่นให้มากขึ้นอีก ทั้งศรัทธาที่มีอยู่ในหลวงพ่อองค์กาสบวกกับศรัทธาในข้อวัตรปฏิบัติของหลวงปู่วินัย จึงทำให้ประเพณีมาสรงน้ำพระองค์กาสจึงมีมาอยู่อีกในระยะหนึ่งที่หลวงปู่วินัยยังมีชีวิตอยู่ หลังจากท่านได้มรณภาพแล้วประเพณีดังกล่าวก็สูญหายไป คงเหลือไว้แต่อดีต ที่คุณตา คุณยายทั้งหลายได้ทรงจำไว้ เพื่อบอกเล่าให้ลูกหลานได้ฟังเป็นนิทานปรัมปราต่อไป

แต่นิทานในเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องจริง ที่มีหลักฐานปรากฏคือหลวงพ่อองค์กาส ที่ให้ผู้สนใจจะศึกษาค้นคว้าได้มีอยู่อย่างสมบูรณ์ และผู้เล่าก็มีตัวตนจริง ทั้งที่ล้มหายตายจากก็มี ยังมีชีวิตอยู่ก็มี (คุณตาช่วง มหานาม อายุ ๘๘ ปี พ.ศ.๒๕๔๙) ผู้ที่ได้รับเป็นมรดกสืบต่อจากผู้ทรงศีลทรงธรรม เช่น หลวงปู่วินัย (พระสารนาถธรรมาจารย์) ด้วยตัวของท่านเอง จึงนับเป็นประวัติที่มีมูลความจริงทั้งหมดอย่างสมบูรณ์ พระองค์กาสหรือหลวงพ่อองค์กาสนั้น เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวบ้านทุ่ม มาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีปาฏิหาริย์ให้เกิดโชคลาภ เกิดความสำเร็จแก่ผู้ได้กราบไหว้บูชา บนบาน บอกกล่าวตามสมควรแก่เหตุทุกคนและการแห่แหนหลวงพ่อองค์กาสเพื่อให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ก็ยังถือมั่นสืบสานปฏิบัติกันอยู่มาแต่อดีตอันยาวนาน ซึ่งไม่รู้ว่านานมาแต่เทื่อใด ถามคนอายุ ๘๐ ปี ในปัจจุบัน พ.ศ.๒๕๔๙ ก็บอกว่าเกิดมาก็เห็นอยู่อย่างนี้ ปัจจุบันก็ยังถือปฏิบัติแห่แหนกันอยู่ในวันสงกรานต์ของทุกปีมิได้ขาด

เรื่องราวดังได้เล่ามาแล้วนี้ ผู้เฒ่าผู้แก่หลายท่านตอนที่ท่านเหล่านั้นยังมีชีวิตอยู่ ที่ได้ใกล้ชิดกับหลวงปู่วินัย (พระสารนาถธรรมมาจารย์) ก็ได้เล่าบอกไว้อย่างเดียวกันนี้มีหลายท่าน เช่น คุณตารินทร์ สุดจันทร์ฮาม, คุณตาขืน มหานาม, คุณตาทึง วงศ์สุ่ย, คุณตาพร พุทธเสน, คุณตาหลุน พรมจักร ผู้เขียนได้สอบถามดูก็บอกว่า ท่านหลวงพ่อวินัยเล่าให้ฟังเป็นเรื่องราวเหมือนกันทุกคน และผู้เขียนก็ได้สัมผัสคลุกคลีใกล้ชิดกับคุณตาทุกท่าน ดังที่ได้กล่าวมาแล้วด้วยความสนใจ จนท่านเหล่านั้นได้มรณกรรมลง ผู้เขียนก็ยังได้มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าภาพฌาปนกิจศพท่านเหล่านั้นอีกด้วย

อย่างคุณตาหลุน พรมจักร ผู้เขียนได้เห็นว่าเป็นผู้มีความคุ้นเคยอยู่กับวัดมาตลอด จึงได้สอบถามท่านดู คุณตาหลุนก็บอกว่า หลวงพ่อวินัยเล่าให้ฟัง ได้เล่าเรื่องราวเหมือนกันกับอย่างที่เล่ามาแล้วนั้นคุณตาหลุนยังได้เล่าเป็นเรื่องตลกขบขันส่วนตัวเองกับหลวงปู่วินัย ให้ผู้เขียนฟังเรื่องหนึ่งว่า วันหนึ่งจะไปหาอยู่หากินตามปกติ วันนั้นจะไปหาปลาได้ม้วนเอาแหมัดรวมกันเป็นก้อนตั้งไว้บนบ่าข้างหนึ่ง เอาสายคล้องสะพายบ่าอีกข้างหนึ่ง เดินเข้าประตูวัดโพธิ์กลางทางด้านทิศเหนือจะออกประตูวัด ด้านทิศตะวันออกหลวงปู่วินัยก็นั่งอยู่หน้าโบสถ์ ช่วงเวลาเช้าฉันอาหารได้เห็นคุณตาหลุนเดินแบกแหไปอย่างนั้นจึงร้องถามไปว่า หลุนจะไปไหนกัน คุณตาหลุนจึงนั่งลงด้วยความเคารพในหลวงปู่พร้อมยกก้อนแหที่ตั้งอยู่บนบ่าวางลงกับพื้นพนมมือพร้อมบอกไปว่า จะไปตึกแหครับ (ทอดแห) หลวงปู่ก็ถามไปอีกว่า ไปตึกแหไหน ตาหลุนตอบไปอีกว่า ไปตึกแก่งครับ (แก่งน้ำต้อน) หลวงปู่ก็พูดขึ้นอีกว่า เอ่อ...เอาปลาค่อใหญ่มาสู่แหน่เด้อ ตาหลุนก็พูดรับปากว่า ครับ แล้วก็ลุกขึ้นแบกเอาก้อนแหใส่บ่าออกจากวัดไปแก่งน้ำต้อน อันเป็นเป้าหมายจับปลาของตน

คุณตาหลุนบอกในใจก็คิดอยู่เหมือนกันว่า เดินออกจากบ้านจะไม่เข้ามาในวัดจะออกไปทางอื่น บอกว่าถ้าเห็นพระเห็นเณรอยากจะอายพระอายเณร โดยเฉพาะหลวงปู่โดยปกติก็มีความสนิทสนมกันอยู่มาก แต่ถ้าเข้าวัดแล้วทางสะดวกไปง่ายมาง่าย ในสมัยนั้นเดินถึงประตูวัดเลยเลี้ยวเข้าวัดไปเลย แต่ก็พยายามเดินก้มหน้าไว้ ไม่คิดว่าหลวงปู่จะเรียกถามอย่างนั้น ปรากฏว่าตลอดทั้งวันไม่ได้ปลาสักตัวเลย ตอนกลางวันก็เอาข้าวปั้นโรยเกลือกินเป็นอาหารมื้อเที่ยง ความจริงเกลือที่เอาไปนั้นจะเอาไว้คลุกใส่ปลาปิ้งกิน เมื่อไม่ได้ปลาก็คลุกข้าวกิน ช่วงบ่ายลงดูอีกหน่อยก็ไม่ได้อะไรบอกว่าคิดเห็นอยู่อย่างเดียวคือใบหน้าหลวงปู่วินัยและคำพูดของท่านว่า เอาปลาค่อใหญ่มาแกงสู่แหน่เด้อ เท่านั้น ไม่ได้ก็ไม่เอาล่ะกลับบ้านดีกว่าเมื่อยแล้วบ่ายสามโมงก็กลับบ้าน

ขากลับไม่กล้าเข้าวัดอ้อมนอกวัดด้านทิศใต้ ดอนเจ้าบ้านแถวนั้นเป็นป่ารกมาก มีต้นหนามตะบอกเพชรเป็นป่าใหญ่ กอไผ่หลายกอทั้งใหญ่และหนามเยอะ ทางเดินมีแต่ต้นขัดมอนสูงระดับเอวผู้ใหญ่นั่งถ่ายอุจจาระมองไม่เห็นหัวเลย ที่สำคัญอุจจาระสองข้างทางเดินวางไม่เป็นระเบียบเลย กลิ่นเหม็นอีกต่างหาก หนามไผ่หนามตะบอกเพชรก็มาก เดินไปบ่นไปว่า ฐานขี้มีตั้งสองห้องมันก็ไม่ขึ้นไปขี้ ต้องเดินอย่างระมัดระวัง ตาหลุนเล่าว่า จะเข้าวัดก็อายหลวงพ่อไม่กล้าเดกินผ่านให้เห็น กว่าจะได้เห็นหน้ากันกับหลวงพ่อก็หลายเดือน ระหว่างนั้นก็มีคนบอกเหมือนกันว่า หลวงพ่อถามหาอยู่ คุณตาหล่นบอกเขาว่า บ่ไปหาเพิ่นดอก อยากอายเพิ่น คุณตาหล่นได้เก็บเรื่อง ครั้งหนึ่งในชีวิตนี่เอามาเล่าให้ลูกหลานได้รับทราบเมื่อบั้นปลายของชีวิตท่าน

เรื่องนี้ก็ต้องขออภัยลูกหลานคุณตาหลุน พรมจักร ที่ไม่ได้บอกไว้ก่อน ถือว่าไม่ได้เป็นเรื่องเสียหายอะไร เจตนาของผู้เขียนก็เพื่อแสดงไว้เป็นหลักฐานว่าได้ไปสัมผัสได้ไปสอบถามได้ศึกษาพูดคุยในประวัติเก่า ๆ จากผู้เฒ่าผู้แก่ เช่น เรื่อของวัดโพธิ์กลาง และวัดอื่น ๆ ศาสนะวัตถุต่าง ๆ ในหมู่บ้านของเรา เช่น ตูบปู่ตา, ประวัติหลวงพ่อองค์กาสที่กำลังอ่านอยู่เป็นต้น หรืออย่างวัดใต้ (วัดหนองแล้ง) สมัยหลวงปู่วินัยได้จำพรรษาอยู่นั้นใครเป็นเจ้าอาวาส ได้สอบถามคุณตาเหงี่ยม (เสงี่ยม เสนามนตรี) คุณตาเอี่ยม ภักดีพรหมมา แต่ก็ไม่ได้ข้อมูลอะไรมากนักจึงล้มเลิกความคิดนี้ไป

ด้วยศรัทธาที่หนักแน่นในหลวงพ่อองค์กาสตลอดมา มีความยึดมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างมั่นคง ในการดำเนินชีวิตของคน ในคนกลุ่มนั้นจะเห็นได้จากการเดินทางรอนแรมมา เพื่อหาที่อยู่ที่ทำกินให้เป็นหลักฐานมั่นคง การเดินทางก็ย่อมจะได้รับความลำบากเป็นส่วนมาก เพราะไม่เห็นจุดหมาหรือเป้าหมายที่จะไป แต่ทุกคนก็พยายามเพราะหวังที่จะได้พบความสำเร็จ ทั้งที่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ใด หรือวันไหน เดือนไหน

แต่ทุกคนก็เดินทางมุ่งสู่ข้างหน้าต่อไป อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยอย่างไร อะไรทำนองนี้ และอะไรเป็นสิ่งบันดาลใจให้เขาได้มีกำลังใจในระหว่างการเดินทางนั้นก็ พระองค์กาส หรือหลวงพ่อองค์กาสที่คนกลุ่มนี้ได้อัญเชิญมาจากบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองด้วยนั้น ในระหว่างที่ถูกกวาดต้อนจากเมืองลาวด้วยกำลังกองทัพอันยิ่งใหญ่เกรีบงไกรของเจ้าพระยามหากษัตริย์จอมทัพไทยในสมัยนั้น

ด้วยศรัทธาที่มั่นคงในพระพุทธศาสนา เขาจึงได้บนบานบอกกล่าวกับหลวงพ่อองค์กาสว่า ขอให้เดินทางตลอดปลอดปลอดภัย สู่จุดหมายปลายทางโยสวัสดิภาพ ปราศจากทุกข์โศกโรคภัย ผู้เฒ่าผู่แก่ลูกเล็กเด็กแดงอย่าได้เป็นอันตราย ล้มหายตายจากในระหว่างทางนี้เลย ขอให้ถึงจุดหมายที่อุดมสมบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งสัตว์พาหนะน้อยใหญ่ทั้งปวงอย่าได้มีอันตรายใด ๆ เลย ถ้าหากเป็นไปตามความปรารถนานี้ ฝูงข้าทั้งหลายจะสร้างบ้านสร้างเมือง สร้างวัดวาอาราม จะบำรุงศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง ถวายกัปปิยะภัณฑ์ อังคาส พระสงฆ์สามเณรในถิ่นนั้น ๆ ไม่ให้ลำบากในปัจจัยสี่ด้วยไทยทานต่าง ๆ

ณ ที่ใดมีบุคคลที่บริสุทธิ์ด้วยศีล ด้วยธรรมแล้ว ธรรมย่อมจะรักษาคุ้มครองผู้มีศีลธรรมนั้น แม้แต่เทวดาฟ้าดินก็รับรู้ รับทราบ ในปฏิปทาข้อวัตรปฏิบัติของคนกลุ่มนี้ เจตนาบริสุทธิ์และความตั้งใจที่มุ่งมั่นของเขา จึงทำให้คนกลุ่มนี้แยกตัวออกมาจากการกวาดต้อนไปทางสระบุรี ลพบุรี หรือกรุงธนบุรี ในครั้งนั้นมาได้อย่างปลอดภัย ทั้งยังได้เลือกทำเลที่ตั้งถิ่นฐานอย่างอิสระ ด้วยบารมีของหลวงพ่อองค์กาส องค์ศักดิ์สิทธิ์ที่เขาเหล่านั้นได้บนเอาไว้ เมื่อถึงจุดหมายหนึ่งที่เขาพอใจจากการเกิดปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อองค์กาส ทำให้โซนผ้าที่หาบคู่มากับเด็กน้อยนั้นได้ขาดลงในที่พักสงฆ์ที่อยู่ในเขตของหมู่บ้านเล็ก ๆ ในสมัยนั้นบ่งบอกว่าหมู่บ้านนี้หรือที่พักสงฆ์แห่งนี้ ต่อไปจะเจริญรุ่งเรืองเป็นบ้านเป็นเมืองที่หนาแน่นมั่นคงแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย และจะมีความอุดมสมบูรณ์ บริบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร สัตว์พานะน้อยใหญ่ ข้าวปลาอาหารมีอยู่ไม่ขาดยุ้งขาดฉาง เศรษฐกิจในหมู่บ้านจะมีหมุนเวียนไม่ขาดสาย ซื้อง่ายขายคล่องในสินค้าต่าง ๆ

ด้วยเหตุนี้ประเพณีการบนบานบอกเล่ากล่าวต่อหลวงพ่อองค์กาส จึงถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่ครั้งอดีตกาลที่นานมาแล้วนั้น จนถือเป็นจารีตประเพณีสืบสานมาจนถึงทุกวันนี้ สมัยหลวงปู่วินัย (พระสารนาถธรรมาจารย์) ท่านก็บอกลูกหลานว่า มีอะไรขัดข้องหมองใจ ไม่สะดวกในกิจกรรมที่ทำนั้น มีอุปสรรคติดขัดหนักเบาอะไรก็ให้บอกมา มาบ่นต่อหลวงพ่อองค์กาส เจ็บไข้ได้ป่วยในเนื้อในตัว หรือวัวควายหายไม่เข้าคอกเข้าแหล่ง ผีบดผีบังและอะไรอีกหลาย ๆ เรื่อง แล้วแต่ใครจะมีปัญหาคับอกคับใจก็มากราบไหว้ จะได้รับความเย็นใจสบายใจ ทุกคนจะได้รับผลสมความปรารถนาอยู่ทั่วหน้า ขอแต่เรื่องที่เราจะบอกมานั้นให้อยู่ในทำนองครองธรรม เป็นเรื่องบุญเรื่องกุศล เป็นเรื่องที่บริสุทธิ์และสะอาด ปราศจากความโลภ ความโกรธ ความหลงแล้ว ย่อมสำเร็จตามความประสงค์นั้นทุกคนไป

หลวงพ่อองค์กาสเป็นพระพุทธรูปโบราณ มีอดีตที่ยามนานมาหลายชั่วอายุคนแล้ว มีความศักดิ์สิทธิ์ มีปาฏิหารย์ให้ปรากฏแก่ผู้มีศรัทธามาแล้วมากมาย เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป เป็นที่กราบไหว้สักการบูชาของพุทธศาสนิกชนมานาน เป็นสมบัติที่มีค่าและหวงแหนของชาวบ้านทุ่มมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

วันเวลาที่ผ่านไป ไม่ได้ผ่านไปเฉพาะวันและคืนเท่านั้น กาลและเวลาที่ผ่านไปนั้น ย่อมกลืนเอาสรพสิ่งต่างๆ ทั้งหลายไปด้วย ไม่ว่าสิ่งนั้นจะมีใจครองหรือไม่มีใจครองสิ่งนั้นจะดีหรือชั่ว ทั้งที่เป็นรูปธรรมว่าเป็นของที่มั่นคงก็ย้อมหมดไปเสื่อสลายไปตามกาลเวลาของวันและคืน แม้จิตใจของคนก็คงเป็นเช่นนั้น เป็นนามธรรมที่สัมผัสไม่ได้ เมื่อกายของเราสลายไปเป็นธาตุเดิม คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จิตใจเป็นของถ่ายทอดให้กันไม่ได้ การปลูกฝังค่านิยมเก่าๆ ให้กับคนอีกสมัยหนึ่งจึงเป็นเรื่องยาก หรืออย่างคนสมัยนั้นก็ต้องใช้เครื่องมือของสมัยนั้น จึงจะเข้ากับสมัย ยิ่งสมัยใหม่เท่าไหร่ก็ยิ่งมีจองใช้ให้ทันสมัย หรือใช้ของอย่างทันสมัยนั่นเอง

ฉะนั้นของเก่าโบราณ โดยเฉพาะแนวทางในการปฏิบัติในจารีตประเพณีของศาสนา แม้จิตใจจะเป็นของถ่ายทอดให้กันไม่ได้ แต่เราก็ยังมีแบบมีตัวอย่างที่ผู้นั้นหรือกลุ่มคนนั้นได้ทำเอาไว้ให้ดู เป็นแนวทางให้เราได้เรียนรู้ เป็นแบบอย่างให้ถือปฏิบัติได้ ทุกคนจะต้องมีต้นแบบเป้าหมายชีวิต คนเราถ้าขาดต้นแบบเป้าหมายชีวิตแล้ว การดำเนินชีวิตอาจผิดพลาดได้ ถึงกับนอนคุกนอนตะรางกันเลยทีเดียว จงเลือกเอาต้นแบบที่ดีเป็นเป้าหมายของชีวิต แล้วมุ่งหน้าเดินทางสู่ต้นแบบตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ ไม่มีความหวั่นไหวในอุปสรรคทั้งปวง จะช้าหรือเร็วย่อมถึงเป้าหมายอย่างแน่นอน

พวกเราทุกคนทุกท่านได้สร้างพระธาตุองค์กาส และพระองค์กาสจำลองเอาไว้หลายองค์หลายขนาด ก็มีต้นแบบคือตัวอย่างหรือแบบอย่างที่บรรพบุรุษบรรพกาลได้ทำเป็นแบบอย่างเอาไว้ให้ดูให้รู้ให้เห็น แล้วจึงตั้งเป็นเป้าหมายของชีวิต มุ่งสู่ต้นแบบนั้น เมื่อเรามีเป้าหมายที่มุ่งมั่นแล้ว นรกสวรรค์ก็อย่าได้กลัวเลย ขอเพียงเป้าหมายนั้นให้ผลเป็นความดี ไม่นานเกินรอความสำเร็จในเป้าหมายนั้นจะเป็นรางวัลชีวิตที่คุ้มค่าอย่างมหาศาล ในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่นี้เอง





พระครูปิยโพธิสาร (จร.ชอ.)

เจ้าอาวาสวัดโพธิ์กลาง บ้านทุ่ม

รองเจ้าคณะตำบลบ้านทุ่ม อ.เมือง จ.ขอนแก่น

ผู้เขียนเรียบเรียง

9 กรกฎาคม 2549

โดยคุณ ratchata (443)  [ส. 07 ม.ค. 2560 - 21:16 น.]



โดยคุณ gotton (1.1K)(1)   [อ. 10 ม.ค. 2560 - 19:40 น.] #3793071 (1/1)

!!!! กรุณา Login ก่อนจึงจะเสนอความคิดเห็นได้ !!!


Copyright ©G-PRA.COM